“ผมเพียงแต่ใช้เชือกผูกร่างกาย เพราะผมรู้ว่าไม่อาจผูกมัดหัวใจ มีเพียงกายเท่านั้นที่ถูกผูกไว้ การผูกรัดสตรีคือการสวมกอด” 1
โนะบุโยชิ อะรากิ
ในภาษาไทย เราใช้คำว่า “ผูกพัน” แทนสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างบุคคลและสิ่งต่างๆ ถ้อยคำนี้บอกกลายๆ ว่าในทุกความสัมพันธ์ เราทั้งหลายได้มัดตรึงตัวเองเข้ากับบางคนหรือบางสิ่งเสมอ ในขณะที่รากศัพท์ของคำว่า relation ในภาษาละติน referre หมายความถึงการดึงกลับ การพูดว่าเรามี relation จึงมีนัยของการผูกมัดแบบหนึ่งที่แม้จะไม่แน่นหนา แต่ก็ถึงเวลาก็มีแรงโน้มนำเรากลับมาหากัน ถ้าพิจารณาในแง่ความหมาย (semantic) ทั้งคำว่า สัมพันธ์-ผูกพัน ล้วนเกี่ยวโยงกับสายใยทั้งแน่นหนาบางเบาที่รัดรึงระหว่างเราเสมอ
เล่นกับเชือก
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ ‘ปมสวาท’ หรือ คินบาคุ (kinbaku) ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นผ่านภาพถ่ายแฟชั่น ศิลปะ การ์ตูนมังงะ และโซเชียลมีเดีย จนค่อยๆ ซึมแทรกสู่วัฒนธรรมมวลชนและมิได้จำกัดแต่เฉพาะกลุ่มคนผู้หลงใหลในกิจกรรมทางเพศแบบ BDSM 2 อีกต่อไป โดยจะเห็นได้ว่าในอินสตาแกรม แค่พิมพ์ #kinbaku ลงไปในช่องค้นหาก็จะพบว่ามีภาพจำนวนนับแสนติดแฮชแท็กคำนี้
คินบาคุเป็นศิลปะการใช้เชือกพันผูกร่างกายเพื่อเพิ่มพูนความสุขสมระหว่างการร่วมรัก สำหรับชาว BDSM คินบาคุถือเป็นการพันธนาการ (bondage) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งพัฒนามาจากศิลปะการต่อสู้ด้วยเชือกที่เรียกว่า โฮโจจิซึ (hojojutsu) ที่มีมาตั้งแต่ปลายยุคเอโดะ 3
รูปศัพท์แรกเดิมของคำว่า ‘คินบาคุ’ แปลตามตัวอักษรได้ว่า ‘การรัดแน่น’ ส่วนคินบาคุชิ (Kinbakushi) หมายความถึง ‘นักเล่นปมสวาท’ หรือ ‘เจ้าแห่งการมัด’
ชาว BDSM ในโลกตะวันตกอาจเห็นเชือกเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากโซ่ แซ่ กุญแจมือ แต่สำหรับนักเล่นปมสวาทแล้ว เชือกเปรียบได้ดั่งฝีแปรงของจิตรกรที่ตวัดวาดลงไปบนผืนผ้าใบ ซึ่งก็คือเนื้อหนัง ความเชี่ยวชาญในศิลปะชนิดนี้จึงต้องอาศัยการฝึกฝน ความอดทนในการเรียนรู้กลวิธีมัดขัดไขว้เส้นเชือกไปทั่วร่างกาย โดยไม่ลืมพาดผ่านจุดสัมผัสที่สร้างความสราญใจแก่ ผู้ถูกมัด พร้อมกับรู้จักจุดอันตรายที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต
นักเล่นเชือก
เซอิยู อิโตะ (Seiu Ito) จิตรกรและศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้มีชีวิตในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถือเป็นปรมาจารย์คนสำคัญที่ทำให้คินบาคุกลายเป็นที่รู้จักกว้างขวางเป็นครั้งแรกๆ เล่ากันว่า อิตโตะได้ว่าจ้างให้คิเสะ ซาฮาระ (Kise Sahara) เด็กสาวที่รับจ้างเป็นแบบให้โรงเรียนสอนศิลปะมาทำการมัดและถ่ายรูป 4 จนแม้เธอได้กลายมาเป็นภรรยา (คนที่สอง) และตั้งครรภ์ เขาก็ยังจับเธอมัดและถ่ายรูปเธอเก็บไว้
ผลงานอันอื้อฉาวของอิโตะนี้เองได้กลายเป็นแบบอย่างให้นักเล่นปมสวาทยุคต่อมา เช่น โนะบุโยชิ อะรากิ (Nobuyoshi Araki) ผู้นำมาสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำศิลปะการรัดรึงแบบคินบาคุมาผสานรวมเข้ากับงานภาพถ่ายตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา
อะรากิกล่าวถึงคินบาคุว่าเป็นเหมือนการเดินทางเข้าไปในดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก การรัดรึงไม่ได้มีจุดหมายเพียงเพื่อสนองความสุขทางเพศแบบ BDSM เท่านั้น ทว่ายังมีจุดมุ่งหมายทางสุนทรียศาสตร์อีกด้วย อะรากิเห็นว่า การพาดพันเชือก การผูกเงื่อนปม รอยรัดรึงที่ปรากฏบนผิวหนัง ทั้งหมดคือภาพภูมิทัศน์นามธรรมบนเรือนร่างของสตรีที่เปล่าเปลือย/สวมใส่เสื้อผ้า
คงไม่เกินเลยไปจากความจริงนัก หากจะกล่าวว่า ศิลปะการรัดรึงดึงให้ราคะ (Eros) และ ความตาย (Thanatos) เข้ามาแนบชิดกัน ซึ่งในโลกที่เราอยู่ ความตายสามารถเอาชนะทุกชีวิต นี่เป็นความจริงที่ไม่มีใครเลี่ยงพ้น แต่โลกของคินบาคุมันกลับตาลปัตรกันด้วยเพราะความสุขสมที่หลั่งล้นนั้นทำให้ผู้ถูกมัดและผู้มัดสามารถชนะความตาย แม้จะเป็นขณะสั้นๆ ก็ตามที
1 Nobuyashi Araki, It Was Once A Paradise,
(Amsterdam: Reflex, 2011), p47.
2 ประกอบขึ้นจากคำว่า
Bondage = พันธนาการ
Discipline = การทำโทษ
Sadism = ความพึงใจในการทำร้ายผู้อื่น
Masochism = ความพึงใจในการถูกทำร้าย
และอีก 2 คำที่อยู่ตรงกลาง
Domination = การมีอำนาจเหนือกว่า และ
Submission = การยอมจำนน
3 โฮโจจิซึเป็นการฝึกฝนในการต่อสู้และจับกุมศัตรูด้วยเชือกเงื่อนต่างๆ ที่มีความแปลกและซับซ้อนพิสดารหลากหลายรูปแบบ
4 เล่ากันว่า อิโตะได้แรงบันดาลใจมาจากช่างพิมพ์ภาพปลายยุคเอโดะ โยชิโตชิ (Yoshitoshi) ที่ีได้จัดทำภาพพิมพ์ชุดหนึ่งเพื่อบอกเล่าคดีสะเทือนขวัญ ซึ่งมีบางภาพในผลงานชุดนี้ที่แสดงให้เห็นการจับผู้หญิงมัดเพื่อทรมานก่อนจะปลิดชีวิต
In recent year, “kinbaku” has become ubiquitous through photographs, fashion, manga and social media. It slowly permeates cultural norms and no longer limits to those who favor BDSM – Bondage, Discipline, Sadism, and Masochism. Just type down #kinbaku and you’ll find numerous photographs with the activities of this hashtag. Kinbaku is an art form of tying ropes on body to increase sexual pleasure for BDSM. It develops from the art of fighting with rope, Hojojusu, from the late
Edo period. Literally, Kinbaku means ‘tight binding’. Whereas, Kinbukushi means ‘rope master’. While Western BDSM may think of rope as one of the tools,
the rope, for Kinbukushi though, is like a painter’s brush. It takes artistic proficiency to learn where to cross or tight the ropes on the whole body to create pleasure and avoid pain.
Seiu Ito, a Japanese painter and artist who lived
during the early 20th century, was a master who brought Kinbaku to fame. It was told that Ito hired
Kise Sahara, a hired model for an art school, for
Kinbaku and photographed her. Even when she had
become his (second) wife, he still tight-roped and
photographed her nonetheless. The notorious works
of Ito inspired Nobuyoshi Araki to create bondage
artwork combined with Kinbaku in photographs
since 1979. Araki said Kinbaku is like walking into
an unknown territory – the bondage of ropes is the
abstract scenery on female body. Kinbaku might remind you of Eros and Thanatos. Though no one can defeat death, during Kinbaku though, it might be few brief seconds when Eros trumps.
Text : Phayongsak Teeranasakhul
Image : Garth Knight’s beautiful “Tree of Man” represents the interconnection amongst all living things. http://illusion.scene360.com/